ยังถกกันไม่เสร็จสิ้นและยังไม่มีทีท่าจะจะสรุปได้เมื่อไหร่ สำหรับร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…. ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาวาระที่2 คือชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย  และยังมีหลายประเด็นที่ยังพิจารณาไม่จบ เช่น การปรับลดมูลค่าบ้านที่จะได้รับยกเว้นภาษี จากเดิมที่กำหนด 50 ล้านบาท แต่ได้มีการเสนอให้ปรับลดอัตราภาษีลงมา และไม่กำหนดว่าต้องเป็นบ้านหลังแรก หรือบ้านหลังอื่น คือจะขอให้ฐานภาษีกว้าง แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติ และการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจะต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก โดยกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เป็นผู้ดำเนินการ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างจากภาคเอกชนด้วย

จับตาซัพพลายแฝงคู่แข่งบ้านใหม่

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า กฎหมายดังกล่าวขณะนี้ยังถกไม่เสร็จสิ้น เพราะหลายคนหลายฝ่ายมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน  สำหรับภาคเอกชนนั้นมองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน แต่ทางสภานิติบัญัติแห่งชาติ(สนช.)อาจจะมองต่างมุมจากภาคเอกชน อย่างบ้านราคาไม่เกิน50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่บ้านหลังที่2-3 ก็จำเป็นต้องจ่ายภาษี ซึ่งเจ้าของบ้านก็ต้องได้รับผลกระทบในระดับหนึ่ง เชื่อว่าเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายในเดือนมกราคม 2562 ผู้ที่มีบ้านเกิน 1 หลัง หรือมีบ้านพักตากอากาศก็อาจจะทยอยออกขาย หากไม่ขายก็จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีซัพพลายแอบแฝงเข้ามาในตลาด ซึ่งจะทำให้บ้านใหม่มีคู่แข่งเพิ่มเข้ามา

 

ทั้งนี้ตามความคิดของตนควรที่จะปรับลดมูลค่าบ้านที่จะได้รับการยกเว้นภาษีจากเดิมที่กำหนด 50 ล้านบาท ให้อยู่ในระดับราคาที่ 10-20 ล้านบาทซึ่งจะสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีรายน้อย-ปานกลางได้ เนื่องจากบ้านระดับราคาต่ำกว่า10 ล้านบาท มีสัดส่วนเกินกว่า 70% ของทั้งประเทศ ส่วนบ้านราคาต่ำกว่า 20 ล้านบาท มีสัดส่วนเกินกว่า 80% ของทั้งประเทศ ขณะที่ปัจจุบันจากการสำรวจพบว่าบ้านราคาเกิน 50 ล้านบาท มีประมาณ 9,000 กว่ารายเท่านั้นที่จะถูกจัดเก็บภาษี ซึ่งไม่ได้ช่วยประโยชน์ในการบริหารงานขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)แต่อย่างใด

 

ส่วนการที่ผู้มีที่ดินเป็นจำนวนมากแล้วเลี่ยงการเสียภาษีด้วยการไปจดทะเบียนในรูปแบบของบริษัทหรือนิติบุคคล แล้วตีมูลค่าทรัพย์สินเป็นหุ้นในบริษัทนั้นๆมองว่าแม้จะไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่รัฐบาลก็ไม่ควรส่งเสริมผู้ที่ไม่พร้อมเข้าระบบ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย รัฐบาลจะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนซื้อบ้านเป็นของตนเอง หรือสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง จะได้รับคืนเงินสดจากรัฐบาลทันทีตั้งแต่ 20,000-25,000เหรียญ หรือประมาณ 500,000-600,000 บาท ทั้งนี้เพราะต้องการให้เศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศ

 

“การจัดเก็บภาษีที่ดินฯถือว่าเป็นเรื่องดีที่อปท.จะสามารถมีรายได้เลี้ยงตนเอง แต่ขณะนี้มีแลนด์ลอร์ดใหญ่หลายราย มีแผนจะนำที่ดินของตนเองไปให้เกษตรกรเช่า เพื่อได้รับการยกเว้นภาษีและลดหย่อนภาษี เชื่อว่าหากไม่มีการสร้างระบบให้ดีก็จะมีเกษตรกรใส่สูทอีกเยอะมาก ซึ่งตามความคิดของผมคือต้องการให้เกษตรกรได้ประโยชน์จริงๆมากกว่าคือหากเจ้าของที่ดินจะให้เกษตรกรเช่าที่ดินทำกิน ก็ควรให้สิทธิเกษตรกรได้รับการลดหย่อนภาษีด้วย” นายอธิป กล่าว

 

นายอธิป กล่าวต่อไปว่า เจ้าของที่ดินที่น่าสงสารคือที่ดินที่เป็นพื้นที่รับน้ำ ,พื้นที่สีเขียว ที่ห้ามจัดสรรที่ดิน ห้ามสร้างที่อยู่อาศัย ส่งผลให้กลายเป็นที่ดินรกร้าง อยากให้ที่เหล่านี้ได้รับการยกเว้น เพราะจะถูกจำกัดสิทธิ์ทางกฎหมาย และที่ดินตาบอดก็เช่นกัน เพราะไม่มีผู้ไปซื้อที่ดิน ซึ่งก็ควรได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี เชื่อว่าปัจจุบันยังมีเจ้าของที่ดินที่ไม่รู้และไม่เข้าใจกฎหมายภาษีที่ดินฯ ในสัดส่วนที่มากเกิน50% ก็ต้องเสียภาษีตรงนี้ไป

 

หวังรัฐผ่อนปรนจัดเก็บภาษีรวมบ้าน2หลัง

นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่าขณะนี้สนช.อยู่ในระหว่างการแปรญัตติ ซึ่งอาจจะปรับลดมูลค่าบ้านที่จะได้รับการยกเว้นภาษีจากเดิมที่กำหนด 50 ล้านบาท ให้อยู่ในระดับราคาที่ 20-30 ล้านบาท และจากการที่มีผู้โต้แย้งกรณีมีบ้านหลังแรกในต่างจังหวัดราคา 500,000-600,000 บาท แต่เมื่อมาทำงานในกทม. ต้องมาซื้อคอนโดฯราคา 1.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นประเด็นที่สนช.ต้องพิจารณา แต่การที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอว่าอาจจะมีอัตราภาษีผ่อนปรนสำหรับบ้าน 2 หลัง แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทก็ได้ ซึ่งหากให้ตนตีความเองนั้นมองว่า หากรวมบ้าน 2 หลังซึ่งเป็นจำนวนราคาที่ไม่มาก เพราะเป็นสภาพจริงของพัฒนาการทางสังคม

 

แต่หากจะปรับลดมาจัดเก็บภาษีในบ้านราคา 10 ล้านบาท แต่ละปีในกทม.-ปริมณฑล ก็จะมีประมาณกว่า 3,000 ยูนิต หากทั่วประเทศก็มีไม่เกิน 4,000-5,000 ยูนิต แต่หากลดลงมาจัดเก็บภาษีบ้านราคาต่ำกว่า 50 ล้านบาท ก็จะทำให้ข้อโต้แย้งใกล้เคียงมากขึ้น และเชื่อว่ากฎหมายภาษีที่ดินฯจะประกาศใช้ได้ก่อนและบังคับใช้ทันในเดือนมกราคม 2562

 

ส่วนการเปิดโอกาสให้แต่ละภาคส่วนเอกชนได้แสดงความคิดเห็นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องใช้กฎหมายบังคับอีกยาวนาน

 

คาดได้ข้อสรุปจัดเก็บที่บ้านราคา20-30ล้าน

ด้านนายสัมมา คีตสิน นักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า สนช.น่าจะสรุปการจัดเก็บภาษีบ้านหลังแรกที่ราคาประมาณ 20-30 ล้านบาท เพราะร่างเดิมในอดีตหลายปีที่แล้วตั้งไว้ที่ประมาณไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งต่ำเกินไป ต่อมาร่างล่าสุดอยู่ที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งมองว่าสูงเกินไป ดังนั้น จึงต้องหาจุดพอดี ซึ่งผู้ที่ซื้อบ้านราคาเกิน 30 ล้านบาท น่าจะถือว่าเป็นผู้มีฐานะสูงกว่าชนชั้นกลางทั่วไป และในแต่ละปีมีบ้านใหม่ที่เปิดขายใหม่หรือสร้างใหม่ปีละไม่กี่พันหน่วยต่อปี

 

ทั้งนี้กฎหมายภาษีที่ดินฯจะพิจารณาจากกระบวนการขั้นตอนการออกกฎหมาย ปัจจุบันอยู่ในวาระที่ 2 ของ สนช. คือมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณารายละเอียด และจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2561 (ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เลือกตั้งทั่วไปใหม่ตาม Road Map) มีเวลาอีกประมาณ 1 ปีครึ่ง น่าจะเพียงพอที่จะผ่านวาระ 2 และลงมติรับร่างในวาระ 3 ได้ทันประกาศใช้ 1 มกราคม 2562 ตามความตั้งใจเดิมของกระทรวงการคลัง

 

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2562 นั้น จะสรุปการจัดเก็บภาษีบ้านที่ราคาเท่าไหร่ เพื่อลดข้อโต้แย้ง ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้ได้มากที่สุด

 

** prop2morrow โดย คุณวาสนา กลั่นประเสริฐ  เบอร์โทร.02-632-0645 E-mail : was_am999@yahoo.com