An image

2 สมาคมอสังหาฯเผยหลังสนช.แปรญัตติปรับลดยกเว้นเก็บภาษีบ้านหลังแรกจาก 50 ล้านบาทเป็นตั้งแต่ 10-20 ล้านบาท ไม่กระทบผู้บริโภค แนะรัฐตีความสร้างความชัดเจนจัดเก็บภาษี เชื่อไม่กระทบผู้อยู่อาศัยทั่วประเทศกว่า 90% ไม่เห็นด้วยเก็บภาษีลาภลอยซ้ำซ้อน

 

นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษา สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยภายในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ”ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” ว่าประเด็นที่ทางคณะกรรมาธิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แปรญัตติเรื่องข้อยกเว้นการเก็บภาษีบ้านหลังแรก จากการจัดเก็บภาษีบ้านที่มีมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ลดลงมาเป็นการจัดเก็บภาษีบ้านที่มีมูลค่า 10-20 ล้านบาท มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วไปมากนัก เพราะว่าบ้าน 10 ล้านบาทขึ้นไปในกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3,000- 4,000 ยูนิตต่อปีซึ่งถือว่ามีไม่มาก ทั้งนี้มองว่าหากจัดเก็บในบ้านมากกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป ในท้องถิ่นบางแห่งอาจจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยได้ยาก

 

วอนรัฐสร้างความชัดเจนตีความจัดเก็บภาษี

นอกจากนี้แล้วสังเกตว่าพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯยังขาดความชัดเจนในการจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เช่น ที่ดินเกษตรกรรมจะคิดอัตราภาษี 0.2% แต่หากมีการปล่อยเช่าที่ดินเกษตรกรรมจะคิดในอัตราภาษีในรูปแบบเกษตรกรรมโดยคิดอัตราภาษี 0.2% เท่าเดิม หรือคิดภาษีในเชิงพาณิชยกรรม ซึ่งจะคิดอัตราภาษี 2% ในขณะเดียวกันบ้านพักอาศัยคิดอัตราภาษี 0.5% แต่หากมีการปล่อยเช่าที่ดินในรูปแบบบ้านพักอาศัยจะคิดในอัตราภาษีในรูปแบบเดิมหรือคิดอัตราภาษีในเชิงพาณิชยกรรม

 

สำหรับสต็อกเหลือขายและบ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจะตีความเพื่อจัดเก็บภาษีอย่างไร ซึ่งคงต้องพิจารณาประเด็นนี้ให้มีความชัดเจนเช่นกัน เนื่องจากการจัดเก็บภาษีในรูปแบบบ้านพักอาศัยและเชิงพาณิชยกรรมมีอัตราการเสียภาษีต่างกัน 3 เท่า นอกจากนี้ยังเป็นห่วงในประเด็นการจัดเก็บที่สูงเกินไป สุดท้ายแล้วภาษีจะถูกหักไปอยู่กับภาระของผู้บริโภคจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนวณถึง ส่วนเรื่องการบรรเทาภาษี ทาง 3 สมาคมอสังหาฯ ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย ได้เสนอไปทางกระทรวงการคลังแล้วว่าโครงการแนวราบควรจะบรรเทาภาษีเมื่อได้รับใบอนุญาตจัดสรร ส่วนคอนโดมิเนียมได้เสนอว่าควรได้รับการบรรเทาภาษีเมื่อได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเพื่อให้เกิดความชัดเจน

 

จวกภาษีลาภลอยซ้ำซ้อน

ด้านนายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการบริหารสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ จะต้องพิจารณาเรื่องราคาประเมินที่ดินด้วย เพราะในบางพื้นที่กฎหมายผังเมืองไม่เอื้อต่อการพัฒนาที่ดินแต่ราคาประเมินที่ดินสูง รวมถึงการขายสิทธิในอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (เอฟเออาร์) ด้วย อย่างไรก็ตามมองว่าพ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ ไม่กระทบผู้อยู่อาศัยทั่วประเทศกว่า 90% อยู่แล้ว

 

ส่วนการจัดเก็บภาษีลาภลอยเบื้องต้นยังไม่เห็นรายละเอียดออกมาว่าจะมีเกณฑ์อย่างไรบ้าง แต่มองว่าคอนเซ็ปต์การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีการจัดเก็บภาษีที่ครอบคลุมอยู่แล้ว ขณะเดียวกันรัฐบาลมีหน้าที่ต้องพัฒนาสาธารณูปโภคอยู่แล้ว จะพูดว่ารัฐบาลต้องได้ประโยชน์จากการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานมองว่าไม่ถูกต้อง ต้องดูผลประโยชน์ของประชาชนในส่วนรวมด้วย

 

สำหรับผลกระทบในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมมองว่าจะไม่กระทบผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ เมื่อมีการเปลี่ยนมือที่ดินแล้วต้องจ่ายภาษี ผู้ถือครองที่ดินเดิมจะเป็นผู้จ่ายภาษี

 

** prop2morrow โดย คุณวาสนา กลั่นประเสริฐ  เบอร์โทร.02-632-0645 E-mail : was_am999@yahoo.com

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

*